หลักการพิจารณาฮวงจุ้ย

หลักการพิจารณาฮวงจุ้ย


การพิจารณาฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ เป็นหลักวิชา และเป็นภูมิปัญญาของชาวจีนที่เรียนรู้และบันทึกสืบทอดมาเป็นพันๆ ปี ฮวงจุ้ยเป็นวิชาว่าด้วยการพิจารณาทำเลหรือชัยภูมิที่ดีที่ นำโชคมาสู่ผู้ที่อยู่ ณ ทำเลที่ถูกต้องตามฮวงจุ้ย

แน่นอนวิชาฮวงจุ้ยจึงนอกจากจะเกี่ยวข้อง กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อขนบประเพณีและศาสนา คือ ลัทธิเต๋า และขงจื้อ และเมื่อพุทธศาสนาแพร่เข้ามายังประเทศจีน ศาสนาพุทธนิกายมหายานก็เป็น พื้นฐานขององค์ความรู้ฮวงจุ้ยด้วย จักรวาลของนิกายมหายานมีการแบ่งชั้นสวรรค์ มนุษย์ นรกอย่างละเอียด มีพระโพธิสัตว์มีเทพเจ้าแบ่งเป็นชั้นๆ มีเรื่องของการบำเพ็ญบารมีเรื่อง อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ซึ่งประสานเข้ากันเป็นอย่างดีกับความเชื่อของชาวจีนที่มีอยู่ก่อนแล้ว พุทธศาสนามหายานจึงแพร่ไปในหมู่ของชาวจีนจนกลายเป็นวิถีชีวิตที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา และเข้ามาเป็นองค์ความรู้ในวิชาฮวงจุ้ยด้วย

หลักการพิจารณาฮวงจุ้ยจะต้องดูองค์ประกอบทั้ง 4 คือ ดวงชะตา ชัยภูมิ ทิศและฤดูกาล (กระแสแนวอากาศ 24 ทิศทาง) และฤกษ์ยาม ซึ่งขอสรุปพอเป็นสังเขป ดังนี้

  1. ดวงชะตา หมายถึงดวงชะตาของผู้ที่เลือกชัยภูมิหรือทำเลหากเป็นเจ้าของอาคารสถานที่อยู่แล้วก็จะต้องตรวจดวงชะตาว่ามีความสัมพันธ์กับทำเลหรือสถานที่อย่างไร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบ คือ
    1.1 ดวงต้น หมายถึง ดวงชะตาที่เกิด
    1.2 ดวงก่อ หมายถึง ดวงชะตาที่ผูกพัน มีผลทำให้เกิดชะตากรรมต่างๆ ในชีวิต
  2. ชัยภูมิ เป็นความรู้หรือหลักแห่งฮวงจุ้ย ศึกษาให้รู้ซึ้งถึงแหล่งกำเนิดพลัง องค์ประกอบของชัยภูมิทั้งเหนือและใต้ธรณี หยิน หยาง กระแสดิน น้ำ ลม อันเป็นปัจจัย ก่อพลัง รับพลัง
  3. ทิศทางและฤดูกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับจักรวาล การหมุนของโลก กระแส การหมุนเวียนแห่งโลกดวงอาทิตย์ กาลอากาศ ทิศทาง 24 แนวหมุน หรือ 24 ราศี
  4. ฤกษ์ยาม คือ ระยะเวลาที่มีความโยงกับพลังงานปฏิกริยาขององค์ประกอบทั้งหมดที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งส่งผลทั้งในทางดีและไม่ดี

ฮวงจุ้ย แนวปฏิบัติที่มีอยู่จริงและความน่าพิศวง

เรื่องของฮวงจุ้ยเป็นวิชาความรู้หรือศาสตร์ที่ปฏิบัติจริงของชาวจีน ดังนั้น เราจึงเห็นการปฏิบัติจริงอยู่ในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน โดยเฉพาะที่เป็นชุมชนพัฒนาและสืบทอดมาจากกลุ่มคนจีนรุ่นแรกที่อพยพมาประเทศไทยจนลูกหลานเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ดังเช่น ย่านการค้าแถวถนนเยาวราช ถนนเจริญกรุง ถนนราชวงศ์ ถ้าเป็นฝั่งธนบุรีก็แถว คลองสาน ตลาดพลู เป็นต้น

ก่อนจะกล่าวถึงการปฏิบัติจริงของฮวงจุ้ยนั้น ขอแยกวิธีพิจารณาฮวงจุ้ย ออกเป็น 2 ประเด็นก่อน ดังนี้

  1. ฮวงจุ้ยภายในอาคาร
    ฮวงจุ้ยภายในอาคาร หมายถึงการสร้างอาคารจะต้องพิจารณาฮวงจุ้ยภายในอาคาร คือ จะต้องพิจารณาถึงอิทธิพลของพลังชี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อยู่อาศัย ภายในอาคาร จะทำให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น การพิจารณาภายในอาคารจะต้องดูอย่างละเอียดทุกเรื่อง ตั้งแต่ประตู หน้าต่าง คาน มุมเสา บันได ห้องต่างๆ ตั้งแต่ ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัวไปจนถึงห้องน้ำ การพิจารณาก็เริ่มตั้งแต่ดูชะตาของเจ้าของบ้าน ดูลักษณะต่างๆ ดูแสง ทิศทาง การถ่ายเทอากาศ ตำแหน่ง ดูละเอียดจนถึงการวางเตียง วางโต๊ะทำงาน โต๊ะอาหาร รายละเอียดมีมากในการถือปฏิบัติเรื่องฮวงจุ้ยภายในอาคาร มีการถือปฏิบัติกันทั่วไปในหมู่คนไทย เชื้อสายจีน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยชองชาวไทยเชื้อสายจีนตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
    ในกรณีที่ไม่สามารถจัดตามฮวงจุ้ยได้ ก็จะมีการแก้ไขป้องกันจากที่ไม่ดีไปเป็นเรื่องที่ดี เช่น การใช้กระจกเงาบานใหญ่มาตั้งที่ประตูเข้าบ้าน การปรับแสง การใช้เสียงระฆัง การปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
  2. ฮวงจุ้ยภายนอกอาคาร
    ฮวงจุ้ยภายนอกอาคาร หมายถึงการพิจารณาชัยภูมิที่ตั้งรอบๆอาคาร ตำแหน่งที่ตั้งอาคาร รูปทรงอาคาร และสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียงทั้งหม
    เรื่องฮวงจุ้ยภายนอกอาคารนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนจีนประกอบธุรกิจ ค้าขาย จึงคำนึงถึงชัยภูมิในการตั้งร้านค้า การเลือกทำเลประกอบธุรกิจในที่นี้จะขอกล่าวประมาณ 3 ประเด็น พอสังเขปเพื่อชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติจริงอันน่าพิศวงในภายหลัง
    …………………………………………………..
    1. เรื่องรูปทรงอาคาร ความเชื่อในทางฮวงจุ้ย อาคารเปรีบบดังภูเขาจึงมีผล มีอิทธิพลต่อผู้อยู่ในอาคารมีผลต่อการประกอบธุรกิจ รูปทรงอาคารสัมพันธ์กับธาตุทั้ง 5
    1.1 ธาตุไฟ รูปอาคารเป็นปิระมิดหรือเป็นหยักหรือหลังคาแหลม
    1.2 ธาตุดิน รูปอาคารเป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่าหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า
    1.3 ธาตุน้ำ รูปทรงไม่แน่นอนตามลักษณะของน้ำไหล
    1.4 ธาตุไม้ รูปทรงลักษณะยาวสูง (เพศผู้) ถ้าแตกกิ่งก้านถือเป็นเพศเมีย ตึกสี่เหลี่ยมสูงตระหง่านถือเป็นธาตุไม้ด้วย
    1.5 ธาตุทอง รูปทรงเป็นวงกลมหรือครึ่งวงกลม รูปทรงอาคารมีส่วน ส่งเสริมการค้าหรือธุรกิจ อาคารธาตุทองรูปทรงกลมหรือครึ่งวงกลม เป็นลักษณะรวม ดึงคนมารวมกัน เหมาะที่จะเป็นห้องประชุม โรงภาพยนตร์ (อาคารหัวลำโพง) อาคารธาตุไฟ ที่มีทรงสามเหลี่ยมหรือยอดแหลมเหมาะกับอาชีพราชการ นักร้องนักแสดง งานศิลปะ การค้าขายหุ้น กิจการ แปรรูปน้ำมัน เป็นต้น (ณัฐธิดา สุขมนัส 2539:133)
    …………………………………………………..
    2. เรื่องของถนน ถนนถือเป็นทางสัญจร มีการเคลื่อนไหว มีชีวิตเป็นกระแสพลัง พลังชี่ที่เคลื่อนไหวมีผลต่อชัยภูมิที่ตั้งอาคาร มีผลต่อบุคคล ต่ออาชีพ ต่อธุรกิจ ลักษณะถนนบอกความหมายดังนี้
    2.1 ถนนตรง แสดงอำนาจ บารมี สถานที่สูงกว่าถนนเป็นที่พึ่งพิงของพลัง ถ้าที่ต่ำกว่าถนนพลังจะถ่ายเทออก
    2.2 ถนนหักศอก ถ้าหักศอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางถนนอาคารที่อยู่ตรงกับถนนก่อนหักศอกจะได้รับพลังทิ่มแทง
    2.3 ถนนที่เป็นทางสามแพ่ง รูปตัว T หรือ Y อาคารที่ตั้งรับจุดที่ถนนตรงมาจะได้รับพลังทิ่มแทงเช่นเดียวกับถนนหักศอก
    2.4 สี่แยก กระแสพลังจะเวียนมาเป็นจุดรวมถือว่าเป็นทำเลที่ดีเพราะกระแสธุรกิจและกระแสเงินจะหมุนเวียนสะพัดอย่างสม่ำเสมอ แต่อาคารที่จุดทางแยกอาจได้รับอิทธิพลของมุมตึกฝั่งตรงข้าม ถ้ามุมตึกเหมือนกันจะไม่เป็น แต่ถ้าตัดเป็นมุมป้าน จะถูกทิ่มแทงจากตึกมุมแหลมของฝั่งตรงข้าม
    2.5 สี่แยกที่มีวงเวียน กระแสพลังจะหมุนเวียนไปตามทิศทางที่รถวิ่งจุดที่รถวิ่งเข้ามาเป็นจุดที่นำโชคลาภมาให้ อาคารที่อยู่ด้านรถออกโชคลาภจะออกไปด้วย
    2.6 สี่แยกที่มีทางเบี่ยงโค้งออกไปทางซ้ายและขวา จุดที่เป็นทางเข้าโค้งจะนำโชคออกไป จุดที่เลยโค้งเลี้ยวแล้วจะเป็นจุดนำโชคเหมือนมีถนนโอบไว้
    …………………………………………………..
    3. เรื่องของพลังที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอยู่ตรงข้ามแหล่งพลังหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวนี้อาจจะเป็น วัด ศาลเจ้า ครุฑ นาค หรือแม้แต่หม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ล้วนแต่ส่งพลังหรือส่งผลมาอาคารที่อยู่ตรงหน้าทั้งสิ้น (กรณีอยู่ใกล้ เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า ขนาดใหญ่)หากมีหม้อแปลงตรงข้ามกับหน้าบ้านของท่าน ควรติดยันต์แก้ไข ดังภาพดังกล่าวค่ะ (ยันต์ปากัว)

ที่มา : www.huangjuijing.com