ปรับโฉม ต.เขาดิน เมืองแปดริ้ว!! สร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว
เตรียมปรับโฉมพื้นที่น ต.เขาดิน จ.ฉะเชิงเทรา สร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ผ่านโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เล็งกระตุ้นรเศรษฐกิจด้วยโรงงานสะอาด สร้างงาน สร้างรายได้คนชุมชนกว่า 2 หมื่นอัตรา พร้อมออกมาตรการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
นายวิวัฒน์ โฆษิตสกุล ที่ปรึกษาโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ของบริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด ได้เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ว่า บริษัทฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ต.เขาดิน อ.บางประกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว หรือเป็น ซิลิคอนวัลเลย์ 2 (Silicon Valley) และสอดคล้องกับนโยบาย Smart City รวมทั้งสร้างเป็นแลนด์มาร์ค ((Landmark) แห่งใหม่ของจ.ฉะเชิงเทรา จึงได้จัดทำโครงการนิคมฯฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ขึ้น วงเงินงบประมาณ 1.4 แสนล้าบาท บนเนื้อที่ 2,500 ไร่ ตั้งแต่เลียบถนนมอเอตร์เวย์ จนถึงสุดริมฝั่งแม่น้ำบางประกง ในรูปแบบที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิงแวดล้อม นอกจากนี้ มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนพัฒนาปรับภูมิทัศน์เป็นพื้นที่สีเขียวส่วนกลางของชุมชน เช่น ป่าจาก ที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ ให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อให้ชาวบ้านสามารถมาใช้ประโยชน์ เช่น ลู่วิ่ง ลานออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมในชุมชน รวมทั้งจัดสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (Training Center) เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ป้อนแรงงานในพื้นที่ให้แก่โครงการฯ โดยปัจจุบัน ได้มีการหารือความร่วมมือกับวิทยาลัยในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการพัฒนาหลักสูตรให้กับนักศึกษาเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของนิคมอุตสาหกรรม
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ จะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบายของ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เช่น อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อุตสาหกรรมการผลิตอัดเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีความจุสูง เช่นแบตเตอรี่ กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำหรับการทำสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่างๆ โดยขณะนี้มีบริษัทฯ ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้นำด้านพลังงานของไทยติดต่อเข้ามาและแสดงความสนใจที่จะเข้ามาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อมาสร้างเป็นโรงงานผลิตรถไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งผลิตจากไฟฟ้าพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม จึงไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และมีบริษัทฯ ที่สนใจจะมาใช้ที่ดินเพื่อสร้างเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีความจุสูง คือ แบตเตอรี่ ซึ่งจะไม่ใช่แบตเตอรี่ตะกั่วกรด แต่จะเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยในอนาคตจะถูกนำมาใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า รวมถึงอาจจะทำเป็นตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตั้งตามโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โรงไฟฟ้าพลังงานลม
ที่ปรึกษาโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราฯ กล่าวว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชาวบ้านอาจจะเกิดความกังวลใจว่า จะเป็นโรงงานที่อันตราย หรือมีมลภาวะมาก และส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบข้าง บริษัทที่จะมาสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ได้มีการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนต้นแบบจากประเทศไต้หวัน ซึ่งโรงงานเป็นโรงงานสะอาด เหมือนเช่นโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างต้องสะอาด การผลิตทุกอย่างอยู่ในระบบคลีนรูม (Clean Room) ไม่มีน้ำเสีย รวมทั้งโรงงานแบตเตอรี่ของประเทศไต้หวัน มีการจัดสร้างอยู่ในแหล่งชุมชน รอบข้างเป็นตลาดผลไม้ ตลาดอาหารสด ร้านสะดวกซื้อ และที่อยู่อาศัย เช่น อพาร์ทเม้นต์ เป็นเครื่องยืนยันว่า อุตสาหกรรมสมัยใหม่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สามารถอยู่รวมกันได้ และขอย้ำว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่มีมลภาวะสูงๆ เช่น มีน้ำเสียเยอะ ปล่อยอากาศเสียเยอะ หรือมีความอันตราย อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานฟอกย้อม โรงงานเยื่อกระดาษ จะไม่ยอมให้เข้ามาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้โดยเด็ดขาด
นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามระเบียบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาเกี่ยวกับ EIA นิคมอุตสาหกรรม เช่น การจัดระบบการระบายน้ำ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ชุมชนรอบข้างซึ่งได้เริ่มดำเนินการ แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 และอยู่ระหว่างการยืนขอพิจารณาปรับเปลี่ยน ต.เขาดิน จากเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสีม่วง เพื่อให้ดำเนินการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้ จากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม จากการจัดทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดต้องมีการดำเนินการ 2 ครั้ง โดยครั้งแรก ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่า กระแสตอบรับจากชาวบ้าน เป็นไปในทิศทางที่ดี หลังบริษัทฯ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการฯ เพราะอยากเห็นความเจริญ และผู้นำชุมชนต่างๆ ได้เล็งว่า หากมีโครงการฯ เกิดขึ้น จะช่วยในการพัฒนาชุมชน ลูกหลานมีงานทำในอนาคต ไม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้าน
“มั่นใจว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ คือ การเพิ่ม GDP เพราะการสร้างอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฮเทคเกิดขึ้นเป็นชาติแรกของอาเซียน รักษาจุดแข็งในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก เพิ่มรายได้จากการส่งออก สร้างรายได้ให้ประชาชน สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสังคมคาร์บอนต่ำ ส่วนในระดับท้องถิ่น คือ การเพิ่ม GDP ของจังหวัด รายได้ภาษีท้องถิ่นเพิ่มขึ้น การจ้างงานซึ่งประเมินไว้ที่ 20,000 ตำแหน่งอย่างแน่นอน”นายวิวัฒน์ กล่าว
นายวิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการออกมาตรการเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย จากการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ โดยจัดซื้อที่ดินบริเวณใกล้วัดเขาดิน จำนวน 13 ไร่ และดำเนินการขุดดิน ถมดิน เพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านครอบครัวละ 50 ตารางวา แต่เป็นการให้เฉพาะที่ดินเปล่าเท่านั้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างชาวบ้านจะเป็นผู้จัดสร้างเอง และดำเนินการขอนุญาตจัดสร้างที่อยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีการจัดสรรใน 2 แบบ คือ 1.ให้เช่า คิดอัตราค่าเช่าวันละ 10 บาท อายุสัญญาเช่า 10 ปี ซึ่งอัตราค่าเช่าจะคงที่ตลอด 10 ปีแรก และ2.ผ่อนซื้อ โดยอัตราการผ่อนชำระวันละ 100 กว่าบาท หรือเดือนละ 3,000-4,000 บาท กำหนดระยะเวลาการผ่อน 10 ปี ซึ่งผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยบริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อชาวบ้านผ่อนครบตามกำหนด จะได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทันที ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ปัญหา หาทางออกที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านให้มากที่สุด โดยยึดหลัก “ชาวบ้านอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ อุตสาหกรรมอยู่ได้”
ขอบคุณข่าวจาก https://siamrath.co.th/n/52157