เปลี่ยนมิเตอร์การไฟฟ้า

สรุปขั้นตอนการเปลี่ยนมิเตอร์การไฟฟ้านครหลวง เพื่อชาร์จรถไฟฟ้า


ช่วงนี้กระแสรถไฟฟ้ากำลังมาแรง ผมเพิ่งติดตู้ชาร์จเรียบร้อยเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้เอง (ไม่ได้ใช้รถ BEV แต่ใช้ PHEV)

หลังจากที่งงกับขั้นตอนทั้งหลายอยู่นานเพราะไม่ค่อยรู้เรื่องไฟๆ เลย จนทำให้กว่าจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลากว่า 2 เดือน เลยสรุปมาให้คนที่ยังงงๆ ลองศึกษาดูกันครับ (อันนี้เป็นส่วนที่ผมได้เรียนรู้มาและประสบการณ์โดยตรง หากมีตรงไหนผิดพลาดไปหรือมีข้อชี้แนะเพิ่มเติม แนะนำไว้ได้เลยครับ)

✅ บ้านเราๆ ส่วนใหญ่เป็น 15(45) 1 เฟส แนะนำว่าควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นอย่างต่ำ 30(100) 1 เฟส (แต่ถ้าอยู่ในความรับผิดชอบของ กฟภ สามารถขอมิเตอร์ 15(45) 1 เฟส ลูกใหม่เพิ่มได้เลยและมิเตอร์ใหม่นี้จะใช้กับวงจรชาร์จรถโดยเฉพาะ)

✅ การขอเพิ่มไฟ สามารถทำออนไลน์ได้ ตามลิงค์​ (https://eservice.mea.or.th/measy/main.jsf) โดยกรอกข้อมูลต่างๆ และอัพโหลดสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้ขอใช้ไฟให้ตรงกัน และรออีเมลแจ้งค่าใช้จ่าย แล้วก็จ่ายให้เรียบร้อย 💡(แนะนำว่าขั้นตอนนี้ถ้าเรื่องเงียบไปเกินอาทิตย์ ให้โทรตามด้วยครับ) โดยค่าใช้จ่ายในการเพิ่มไฟ 15(45) เป็น 30(100) อยู่ที่ 700 บาท

✅ ถ้าอยากประหยัดขึ้น (กรณีใช้ไฟเยอะช่วงกลางคืนหลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้าหรือวันหยุด และชาร์จรถกลางคืนหลังสี่ทุ่ม) น่าจะทำเรื่องขอเพิ่มไฟและเปลี่ยนมิเตอร์เป็น TOU ไปเลยในคราวเดียว กรณีของ กฟน. เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มไฟ 700 บาท และมิเตอร์ TOU 6,640 บาท (ของ กฟภ. จะถูกกว่า)
💡ลองคำนวณเล่นๆ กันดูได้ครับ ว่าคุ้มไหม โดยลองจดมิเตอร์ตัวเองดูช่วง on peak และ off peak สุ่มๆ ดูซัก 2-3 วัน แล้วมาคิดเป็นจำนวนหน่วยที่ใช้ต่อเดือน
เอามากรอกในลิงค์นี้ 👉 https://www.mea.or.th/aboutelectric/116/280/form/11
โดยเฉลี่ยของผมค่าไฟจะถูกลงประมาณเดือนละพัน ดังนั้นไม่ถึงแปดเดือนก็คุ้มค่ามิเตอร์ TOU ละ 😊

✅ สำหรับ กฟน. หลังจากยื่นเรื่องขอเพิ่มไฟแล้ว จะต้องมีการเดินสายเมนใหม่มารอไว้ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้ทาง กฟน. มาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย ถ้าผ่านเขาถึงจะมาเปลี่ยนมิเตอร์ให้ครับ❗คือสามารถดำเนินการขั้นตอนนี้ได้เลย พอทำเสร็จแล้วค่อยให้ กฟน. เขามาดู

✅ โดยการเดินสายเมนใหม่เพื่อชาร์จรถ มี 2 วิธี (ดูรูปประกอบ) คือ
วิธีที่ 1 เปลี่ยนสายเมนใหม่ให้ใหญ่ขึ้น (สายทองแดง 25 ตร.มม.) เดินจากมิเตอร์เข้าตู้เมนใหม่ขนาด 100A แล้วค่อยเดินไปตู้เบรคเกอร์ย่อย 2 ตู้ คือ ตู้สำหรับวงจรในบ้าน และ ตู้สำหรับวงจรชาร์จรถ (ส่วนขนาดของสายเมนที่ไปตู้ย่อยนี้ ขึ้นกับจำนวนแอมป์ของตู้ ส่วนใหญ่ใช้ขนาด 10-16 ตร.มม.)2)
วิธีที่ 2 คือ เก็บสายเมนของวงจรบ้านเดิมไว้ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน แล้วเดินสายเมนเส้นใหม่เข้าตู้เมนใหม่ของวงจรชาร์จรถเลย เป็นแบบวงจรขนานกันไปไม่เกี่ยวข้องกัน (ขนาดสายเมนวงจรใหม่นี้ แนะนำขนาด 16 ตร.มม.) โดยขนาดไฟของตู้เมนวงจรใหม่นี้รวมกับตู้เมนเก่า ต้องไม่เกิน 100A
💡แนะนำวิธีนี้ครับ เนื่องจากสะดวกกว่า ไม่ต้องยุ่งกับวงจรเดิมในบ้านเลย เดินสายระยะทางน้อยกว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมน่าจะถูกกว่าวิธีแรก

✅ ส่วนใหญ่ตู้ชาร์จที่แถมมาตอนซื้อรถ เขาจะดำเนินการติดตั้งให้ คือ ติดตู้ชาร์จ, สายดิน, เดินสายเข้าตู้เมนย่อยของวงจรชาร์จรถ, ติดอุปกรณ์กันไฟรั่ว (คือ ในกรอบหมายเลข 1 ในรูป) ซึ่งมักไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนนี้ 💡อุปกรณ์กันไฟรั่วนี้ตามสเปคของ กฟน. ต้องเป็น Type B เท่านั้นนะครับ (Type B จะสามารถกันไฟย้อนจากแบตเตอรี่ได้) แต่
❗ถ้าตู้ชาร์จเรามีระบบกันไฟกระแสตรงย้อนอยู่แล้ว สามารถใช้เป็น Type A ได้นะครับ

เปลี่ยนมิเตอร์การไฟฟ้า
เปลี่ยนมิเตอร์การไฟฟ้า

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณ Dan SD (Facebook)

https://www.facebook.com/groups/2389905174463399/permalink/4415219378598625/